ผิวแตกลาย ทางการแพทย์เรียกว่า “Stretch marks” หรือ “Striae” อาการเริ่มแรก คือ ผิวหนังจะเกิดรอยแดงหรือม่วงมีลักษณะเป็นเส้น หลังจากนั้นสีจะอ่อนลงเรื่อยๆจนกลายเป็นสีขาวขุ่น สามารถสังเกตเห็นได้ บริเวณที่พบบ่อย คือ บริเวณหน้าท้อง หน้าอก เต้านม สะดือ ต้นแขน ต้นขา สะโพกและน่อง
สาเหตุ “ผิวแตกลาย”
สาเหตุของการเกิดผิวแตกลาย เกิดจากการฉีกขาดของชั้นผิว โดยที่ผิวหนังบริเวณนั้นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผิวแตกลายเกิดขึ้นที่ผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) มักจะเกิดในบริเวณที่มีไขมันสะสมเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะและลดลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงสตรีมีครรภ์
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผิวแตกลายและกลายเป็นปัญหามากที่สุด คือ การใช้ครีมที่ผสมสารสเตียรอยด์ ที่มีขายทั่วไปแต่ไม่ได้รับมาตรฐาน หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดภาวะ ผิวติดสาร ผิวบาง เป็นรอยช้ำได้ง่าย มีผื่นแพ้ มีสิวบริเวณที่ทา เกิดรอยแตกที่ผิวหนัง สีผิวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคนที่มีสีผิวคล้ำ
“สเตียรอยด์” เป็นยาที่ใช้กับผิวหนังโดยตรง ซึ่งจะใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น กลาก ผื่นคัน โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบและลดการระคายเคืองของผิว การใช้ยาที่ผสมสารสเตียรอยด์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ควรใช้ในปริมาณที่น้อย และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้
วิธีการรักษา “ผิวแตกลาย”
- ใช้ยาที่อยู่ในกลุ่มกรดวิตามินเอและกลุ่มกรดเอเอชเอ (AHA) เท่านั้น เพราะจะช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าและสร้างเซลล์ผิวใหม่ ทำให้รอยแตกจางลง แนะนำให้ทาเป็นประจำ
- หากรอยแตกมีจำนวนมากควรปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ครีมที่ขายทั่วไปมักผสมสารสเตียรอยด์ ในปริมาณที่มีความเข้มข้นสูงมาก นอกจากจะส่งผลทำให้เกิดภาวะ “ผิวติดสาร ผิวบาง”แล้ว หากใช้เป็นเวลานานมีความเสี่ยงที่สเตียรอยด์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดผลข้างเคียงภายใน เช่น Cushing syndrome (กลุ่มอาการที่เกิดจากร่างกายมี ฮอร์โมน Glucocorticoid สูงหรือมากเกินปกติ
Glucocorticoid เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะเกือบทุกระบบ ถ้าฮอร์โมน Glucocorticoid ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดโรคของต่อมหมวกไตและโรคของต่อมใต้สมอง