“ฝ้าเลือด” คืออะไร?
ฝ้าเลือด ทางการแพทย์เรียกว่า Vascular Melasma หรือ Telangiectatic Melasma เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดฝอยบนใบหน้า มีการเพิ่ม ขยายตัว หรือเสื่อมสภาพของเส้นเลือดฝอยในชั้นหนังแท้ (Dermis) ทำให้เห็นรอยเส้นเลือดแตกแขนงที่ใบหน้า เรียกว่า “ฝ้าเส้นเลือด”
ในกรณีที่เส้นเลือดฝอยแตกจะมีเลือดกระจุกที่ชั้นผิวทำให้เห็นเป็นรอยเลือดสีชมพู สีน้ำตาลแดง หรือสีคล้ำ เรียกว่า “ฝ้าเลือด”
9 เหตุผลที่ทำให้คนไทยเป็น “ฝ้าเลือด” กันเยอะ
1. กรรมพันธุ์
จากสถิติพบว่าคนที่มีญาติเป็น “ฝ้าเลือด” จะมีโอกาสเป็นฝ้าเลือดสูงกว่าบุคคลทั่วไป นี่เป็นเพียงแค่การคาดการณ์
สำหรับท่านที่สังเกตุว่ามีญ
าติเป็นฝ้าเลือด ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกัน หน่อย
2. ฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เส้นเลือดที่ใบหน้าขยายตัว บางท่านพบว่ามีฝ้าขึ้นชัดเจนในช่วงมีรอบเดือน และเมื่อถูกรบกวนด้วยปัจจัยอื่น ๆ ก็ทำให้กลายเป็น “ฝ้าเลือด” ได้
สำหรับคนที่ตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเป็น “ฝ้าเลือด” ได้ง่ายเช่นกัน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั่นเอง
3. แดดแรง UV Index สูง
เมื่อผิวโดนแดดแรง ๆ และสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เซลล์ผิวบริเวณนั้นเสื่อมสภาพ กระตุ้นให้เส้นเลือดฝอยแตกแขนงเพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้น พบได้มากที่สุด คือ โหนกแก้มและสันจมูก
ประเทศไทยมีค่า UV Index เฉลี่ย 9-12 จึงควรเลี่ยงแดดช่วงเวลา 10.00-15.00 น. หากจำเป็นจริง ๆ ควรทาครีมกันแดดและต้องมีอุปกรณ์เสริม เช่น ร่ม หมวก อาหารเสริมผิว
4. คลั่งผิวขาว
คนไทยเป็นชนชาติที่คลั่งผิวขาว จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์เร่งผิว
ผู้ที่ใช้ครีมแก้ฝ้าหน้าขาวเป็นประจำ มีโอกาสเกิดผิวบางและเกิด “ฝ้าเลือด” ได้ง่าย
5. สารอันตรายเกลื่อนเมือง
สารอันตรายที่ห้ามใส่ลงในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแต่นิยมลักลอบใส่มากที่สุดก็คือ ปรอทแอมโมเนีย และ สเตียรอยด์ ถ้าใช้ติดต่อกัน 1-6 เดือนจะเกิดอาการ “ผิวติดสาร” แต่หากใช้ติดต่อกัน 1 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็น “ฝ้าเลือด”
ปรอทแอมโมเนีย และ สเตียรอยด์ พบมากที่สุดในผลิตภัณฑ์ผิวขาว รักษาฝ้ากระ และรักษาสิว
6. รักษาฝ้าผิดวิธี
คนส่วนใหญ่เมื่อเป็นฝ้าจะแก้ไขด้วยครีมแก้ฝ้า แต่จริง ๆ แล้วครีมแก้ฝ้าคือสิ่งที่สุดท้ายที่ควรนึกถึง การแก้ฝ้าที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากหาสาเหตุของการเกิดฝ้าแล้วแก้เป็นจุด ๆ ยกตัวอย่าง เช่น
- เป็นฝ้าจากยาคุม ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนยาหรือเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิด
- เป็นฝ้าแดด ควรเริ่มจากเลี่ยงแดดช่วงแดดจัด ฟื้นฟูผิวด้วยอาหารเสริมผิวและทาครีมกันแดดขณะออกแดด
- เป็นฝ้าเลือด ควรเริ่มจากการฟื้นฟูผิว หรือพบแพทย์เพื่อฉายแสงรักษาเส้นเลือด
ในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ควรปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเท่านั้น เพื่อหาวิธีการรักษาต่อไป
7. โรคและยาบางชนิด
โรคบางชนิดมีผลกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้ผิวอ่อนแอ และเป็นฝ้าง่ายขึ้น ได้แก่
- ภาวะ SLE
- โรคผิวหนัง
- โรคผิวแพ้แสง
- ภาวะไทรอยด์
- อาการขาดวิตามินบี
สำหรับยาที่กระตุ้นให้เกิด “ฝ้าเลือด” ได้แก่ ยาคุมกำเนิด ยากันชัก ยาผสมสเตียรอยด์
8. การสครับผิวหน้า/ลอกผิวหน้า
การสครับหน้าบ่อยเกินไป ถือเป็นการรบกวนผิวทำให้เกิด “ฝ้าเลือด” ได้ ดังนั้นควรสครับแต่พอดี เว้นระยะเวลาให้มีการพักผิวหน้าบ้าง แนะนำเป็นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
การลอกผิวหน้า ไม่ควรทำด้วยตัวเอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น อาจจะกลายเป็น “ฝ้าถาวร” ได้
9. ธาตุไฟ
ข้อนี้เป็นความเชื่อทั้งศาสตร์ไทยและจีน คือ คนที่มีธาตุไฟ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงกว่าธาตุอื่น ๆ มีผลต่อระบบเลือดลม จึงทำให้เป็น “ฝ้าเลือด” ได้ง่ายกว่าธาตุอื่น ๆ นั่นเอง
ในทางวิทยาศาสตร์ ก็เห็นพ้องต้องกันว่า คนที่มีธาตุไฟ หมายถึงคนที่มีอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้เกิด “ฝ้าเลือด” ได้เช่นกัน